เกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา และที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า เหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ บ่อยครั้ง ซึ่ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสหรัฐฯ เกิดคดีกราดยิงถึง 2 ครั้ง จากงานวิจัยที่มีการศึกษา พบว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่เรียกว่า Trauma หรือ “สะเทือนขวัญ” โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะถูกกระทำที่เกี่ยวข้องกับ 5 ข. ได้แก่ ข่มขวัญ ข่มขู่ ข่มขี่ ข่มขืน ข่มเหง เพราะถูกกระทำมาก่อน ส่วนมากจะโดนในวัยเด็ก โดยมีชื่อเต็มว่า Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD
กรณีที่เป็นผู้ใหญ่ มักจะเกิดกับบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้าย เช่น ไปออกรบ เห็นคนตาย เห็นเพื่อนตาย ถูกทอดทิ้ง เมื่อรอดกลับมาก็จะกลายเป็นแผลใจ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา ก็มักจะมีการก่อเหตุในช่วงคริสต์มาส หรือปีใหม่ เพราะเห็นคนอื่นมีความสุข ในบางเคสก็จะก่อเหตุกับเด็ก เพราะเห็นว่าเด็กมีความสุข ในขณะที่ตัวเองกำลังทุกข์
“จากสถิติก็คือ คนที่ก่อเหตุมักจะเป็นทหาร หรือตำรวจ หรือบุคคลที่พกอาวุธปืน และมักจะเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น ถูกไล่ออก หรือถูกกระทำ ทำร้าย บังคับ ข่มขืน ส่วนตัวมองว่า “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ลงมือก่อเหตุ ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องงานที่ถูกโยกย้ายหรือให้ออกจากราชการ กลายเป็นเรื่องที่ฝังใจ”
SPONSORED
อาการ PTSD ตอนเด็ก จะมีอาการร่วมคือ “โรคซึมเศร้า” ผลพวงที่ออกมา มีโอกาสเป็นไปได้ก็คือ การฆ่าตัวตาย หรือ ฆ่าคนอื่น หรือแม้กระทั่งไปฆ่าคนอื่นก่อนแล้วค่อยฆ่าตัวตาย ซึ่งตรงนี้มองได้ชัดว่า อาจจะป่วยเป็น Trauma
เมื่อถาม คนป่วยเหล่านี้สามารถวางแผนก่อเหตุรุนแรงได้? ดร.วัลลภ กล่าวว่า ถ้าป่วยตั้งแต่เด็กก็อาจจะมีการวางแผนตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้ ส่วนตัวเคยไปตรวจสอบเคสที่ จังหวัดสงขลา เคยมีคดีฆาตกรรมคนในครอบครัว โดยพ่อถูกฆ่า แม่ถูกจับและเฆี่ยนจนบาดเจ็บสาหัส และต่อมา แม่เขาเสียชีวิต ลูกที่ถูกกระทำด้วย รอดชีวิตมาได้ เขารู้สึกมีความแค้น แต่ก็ไม่รู้ว่าคนร้ายที่ลงมือเป็นใคร จากนั้น ลูกคนนี้ก็กลายเป็นฆาตกร เขาจะวางแผนฆ่าคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว ซึ่งแบบนี้ถือว่า เข้าข่าย
อาการ Trauma อาจจะเกิดในลักษณะเกิดขึ้นฉับพลันได้ หากถูกกระตุ้นก็จะระเบิดทันที จะออกไปฆ่าคนอื่น หรือฆ่าตัวตาย เหมือนเป็นคลื่นที่มาทำร้ายตัวเองและคนอื่น
ตอนก่อเหตุมีมโนสำนึกหรือไม่ ดร.วัลลภ กล่าวว่า “ไม่มี...ไร้จิตสำนึก หากคนนั้น มีความคิดรอบคอบ เขาจะเลือกแบบเจาะจง ว่าจะก่อเหตุกับใคร แต่กรณีนี้ไม่มี เห็นใครก็ก่อเหตุทำร้าย ฆาตกรรมหมด จึงไม่มีมโนสำนึก
เมื่อถามว่า ยาเสพติดมีผลแค่ไหน หมอผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ยืนยันว่า มีผลมาก เพราะเหมือนกับไม่ผ่านความคิดในสมองเลย เป็นปฏิกิริยาที่ทำทันที เพราะสมองแปรปรวน บวกกับถ้ามีอาการ Trauma อยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ระบบประสาทแปรปรวน
“คนที่น่ากลัวที่สุด สำหรับคนป่วยโรคนี้ คือ คนที่มีอาวุธปืน หรือคนที่ใช้ปืน ฉะนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมอย่างดี ถ้ากองทัพ หรือ สตช. ทราบว่า มีคนในหน่วยงานป่วยโรคนี้ หากมีการลงโทษหรือให้ออก ก็ต้องระวัง จะต้องมีการควบคุมไม่ให้มีอาวุธ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความแค้นใจ ฝังใจ ซึ่งการถูกทำร้ายร่างกาย หรือ จิตใจ นั้นทำให้เกิดการจดจำในระดับเซลล์ ฉะนั้น คนที่เป็นทหารถ้าป่วยโรคนี้จะเป็นอันตราย”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
b>>{Fullwidth}