กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดประกวด “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” รอบคัดเลือกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สืบสานแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา
วันที่ 17 ก.ย.65 ที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับและมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง กรมการพัฒนาชุมชน และกระทรวงมหาดไทยร่วมพิธีเปิดโครงการฯ
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย และเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรก ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอ นาหว้า จังหวัดนครพนม ได้พระราชทานผ้าลาย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่กลุ่มทอผ้าทั่วประเทศ ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอด การพัฒนาผ้าลายพระราชทาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด ไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน
กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ 2 บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรม ที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ 3 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทย
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นขอ ,เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน ,คัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม จากพื้นที่ 4 ภูมิภาค ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จำนวน 150 ผืน/ชิ้น และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม แต่ละประเภท ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ในการนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการเปิดรับสมัครส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด 14 ประเภท โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร ทั้งนี้มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด 2,836 ผืน และงานหัตถกรรม 283 ชิ้น แยกเป็น ภาคใต้ ประเภทผ้า 242 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม 82 ชิ้น ภาคกลาง ประเภทผ้า 232 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม 70 ชิ้น ภาคเหนือ ประเภทผ้า 430 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม 62 ชิ้น และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้า 1,932 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม 69 ชิ้น
โดยกำหนดดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ โดยดำเนินการแล้วเสร็จในพื้นที่ 3 ภูมิภาค ได้แก่ จุดดำเนินการที่ 1 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท และจุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ที่จังหวัดอุดรธานี และการประกวดรอบคัดเลือกในวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ ห้อง meeting Room 1 – 2 ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศ ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสาน ภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2498 ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎร ที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่ มาพัฒนาเป็นอาชีพ ให้เกิดรายได้ แก่ราษฎร ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมในปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร และยังทรงมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป
อีกทั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ทรงพระราชทานผ้าลาย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอ นาหว้า จังหวัดนครพนม
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานแห่งสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสืบสาน ภูมิปัญญาและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ดำเนินการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยตลอดไป