“ชัชชาติ” ร่วมงาน BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 บอก กทม.พร้อมหนุนกิจกรรม LGBTQ+ ชี้ ไม่ควรไปกีดขวาง หรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดการแสดงออกประชาชน
วันที่ 27 พ.ค. 65 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวงาน BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 จัดโดยคณะทำงานบางกอกไพรด์ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ เดินขบวนพาเหรด PRIDE ครั้งแรกใจกลางกรุงเทพมหานคร จากวัดแขกสู่ถนนสีลม งานจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย. 2565 เวลา 16.00 น. นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญคือการยอมรับ และความเข้าใจถึงความหลากหลายที่มี อาจจะไม่ใช่มิติทางเพศอย่างเดียวแต่ยังมีอีกหลากหลายมิติ ซึ่งถ้าหากทุกคนยอมรับในความหลากหลายได้ก็จะเป็นสังคมที่มีความสุขมากขึ้น สำหรับเรื่องพื้นที่จัดงานตนมองว่าพื้นที่สาธารณะมีเยอะ หากว่าตนได้รับการรับรองแล้วก็ต้องมาพูดคุยกับกลุ่มผู้จัดงานว่าความต้องการเป็นอย่างไร ทาง กทม.ก็พร้อมสนับสนุนอำนวยความสะดวกเท่าที่ขอบเขตของ กทม.จะทำได้ เช่น เรื่องพื้นที่ การประสานงานกับคนในพื้นที่ รวมถึงการป้องกันโควิด-19 ด้วย
“กทม.จะดูแลให้ดีที่สุด อะลุ่มอล่วยให้ได้มากที่สุด อะไรที่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตายหรือไม่ดี ก็ไม่ควรไปกีดขวางการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วไม่ควรเอากฎหมายไปเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแสดงออกของประชาชน กทม.จะต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ก็มีนโยบายที่จะดูแลกลุ่มนี้ เช่น การให้บริการในสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเช่นศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้ในสถานศึกษา เพื่อยอมรับความแตกต่าง หากยอมรับได้ และมองว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาด คนในสังคมก็จะเข้ากันได้ดียิ่งขึ้น” นายชัชชาติ กล่าวและว่า เรื่อง Pride Month ก็เป็นหนึ่งนโยบาย 12 เทศกาล 50 อัตลักษณ์เขตด้วย เพราะ Pride Month มีอยู่ทั่วโลก กทม.สามารถช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ได้เพื่อสร้างความเข้าใจ ความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกจัดกิจกรรมนี้ก็ไม่มีเหตุผลที่กรุงเทพฯ จะจัดกิจกรรมนี้ไม่ได้
ส่วนการผลักดันให้มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุน เพราะจะได้สวัสดิการเหมือนเช่นบุคคลทั่วไป ส่วนเรื่องที่ในสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่บ้างนั้น ตนมองว่าอคติต่างๆ เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าหากจะเริ่มก็ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจก่อน ข้าราชการกทมก็ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ ตนเชื่อว่าถ้าเริ่มจากความเข้าใจ อคติก็จะลดลงได้ สำหรับนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศตนคิดว่าสามารถทำได้ทันที แต่ในส่วนของสาธารณสุขก็จะต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อน เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ ส่วนเรื่องการแต่งกายของข้าราชการนั้นตนมองว่า แต่งกายอย่างไรไม่เป็นไร ขอให้บริการประชาชนให้ดี ดูแลประชาชน และไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าหากให้ข้าราชการแต่งกายอย่างที่ตนเองมีความสุข อาจจะดูแลประชาชนได้ดีขึ้น.
{fullwidth}